‘บางจาก’ผนึก‘น้ำตาลขอนแก่น’ ปั้น‘บีบีจีไอ’โกยความมั่งคั่งใหม่

ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ด้วยโมเดล “เศรษฐกิจ BCG” (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติ สะท้อนผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ กำลังส่งผลดีต่อหุ้นไอพีโอน้องใหม่บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI

บริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวนไม่เกิน 433.20 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 2.50 บาทคาดซื้อขายวันแรก (เทรด) ไตรมาส 1 ปี 2565

การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้แน่นอนว่า “2 ผู้ถือหุ้นใหญ่” อย่างบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ถือหุ้น 40.2% และ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSLถือหุ้น 26.8% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้น IPO) ต้องการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลและส่งเสริมสุขภาพที่เป็น “เรือธง” (Flagship) ของกลุ่ม BCP และ KSL

สะท้อนผ่าน เงินที่ได้จากการระดมทุนส่วนหนึ่งนำไป “ลงทุนขยายกิจการ” และ “ลงทุนโครงการในอนาคต” รวมถึงกระบวนการพัฒนา ปรับปรุงประสิทธิภาพ ส่วนที่เหลือใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมให้กับสถาบันการเงินและชำระคืนหุ้นกู้รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ณ ปัจจุบัน BBGI ดำเนินธุรกิจโดยการเข้าถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ประกอบด้วย ธุรกิจหลัก คือ “ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ” (Bio-based Products)ประเภทผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ได้แก่ ไบโอดีเซล กลีเซอรีนบริสุทธิ์เกรดอาหารและยา เอทานอล แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อเกรดเภสัชกรรม

 

และธุรกิจอื่นคือ “ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง” (High Value Bio-Based Products หรือ HVP)ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลและส่งเสริมสุขภาพ (Health and Well-Being) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงโดยจดสิทธิบัตรหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่ง BBGI เป็นเจ้าของหรือได้รับสิทธิบัตรดังกล่าว

“กิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGIให้สัมภาษณ์ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ”ว่า บริษัทเล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของ “อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง” หรือ Advanced Biotechnologyซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของเทคโนโลยีชีวภาพที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคต

จากการนำวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง หรือวัตถุดิบทางการเกษตรอื่นๆ มาผ่านกระบวนการทางชีวภาพด้วยจุลินทรีย์ที่ออกแบบขึ้นด้วยนวัตกรรมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตั้งแต่ส่วนประกอบชีวภาพในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค หรือส่วนประกอบชีวภาพในยารักษาโรค ที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับแผนธุรกิจ3 ปี (2565-2567) คาดใช้เงินลงทุนระดับ “พันล้านบาท” สะท้อนผ่านการมุ่งขยายสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (HVP) ด้วยเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synbio) ถือเป็น “ธุรกิจ New S-Curve” ของ BBGI โดยจะดำเนินการผ่านโมเดลธุรกิจด้วยการเป็น Strategic Partner กับพันธมิตรชั้นนำระดับโลกที่มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ต่อยอดจากพื้นฐานความชำนาญและประสบการณ์ของ BBGI ในฐานะผู้นำธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ของประเทศไทย

สอดคล้องกับปัจจุบัน BBGI ได้ร่วมเป็นพันธมิตรและลงทุนในบริษัท Manus Bio Inc. บริษัทจดทะเบียนในประเทศสหรัฐ ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ที่มีความเชี่ยวชาญในการค้นคว้าวิจัย และพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงที่มีความหลากหลาย ซึ่ง BBGI สามารถนำองค์ความรู้มาต่อยอดเพื่อทำการวิจัย พัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงได้เป็นอย่างดี เพื่อผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสีเขียวที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับโลก

BBGI ได้ร่วมกับ Manus จัดตั้งบริษัท วิน อินกรีเดียนส์ จำกัด (WIN)เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงของ Manus ในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม 12 ประเทศ ซึ่ง WIN ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิตและจำหน่าย โดยปัจจุบันได้เริ่มทำการตลาดผลิตภัณฑ์สารให้ความหวานจากธรรมชาติที่ผลิตจากเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงของ Manus ภายใต้แบรนด์ “NutraSweet” ที่ให้ความหวานและรสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาล แต่ไม่มีแคลอรี่ และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด

ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์สารให้ความหวานจากหญ้าหวาน (Reb M) สำหรับใช้เป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์สารให้ความหวานบรรจุซอง (Table Top) สำหรับจำหน่ายให้ลูกค้าผู้ประกอบการร้านกาแฟ ร้านอาหาร โรงแรมและผู้บริโภคทั่วไปนอกจากนี้ WIN ได้เริ่มแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าวใน 5 ประเทศหลักในภูมิภาคเอเชีย และ อยู่ระหว่างกระบวนการเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าเพื่อพัฒนาเป็นสูตรสินค้าจัดจำหน่ายต่อไป

สุดท้าย “กิตติพงศ์” บอกไว้ว่า ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกได้เริ่มพัฒนา และวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี SynBio มาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแล้ว เช่น ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์จากพืชที่มี รสชาติ กลิ่น และสัมผัส เหมือนกับเนื้อสัตว์จริง ตอบรับเทรนด์Health and Wellness ของผู้บริโภคทั่วโลก

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business